เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [9. อาฎานาฎิยสูตร] ภาณวารที่ 1

ทางทิศเหนือ มีเมืองกปีวันตะ
และมีอีกเมืองหนึ่งชื่อชโนฆะ
อีกเมืองหนึ่งชื่อนวนวติยะ
และมีอีกเมืองหนึ่งชื่ออัมพรอัมพรวติยะ
มีราชธานีชื่ออาฬกมันทา
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ท้าวกุเวรมหาราช
มีราชธานีชื่อวิสาณา
ฉะนั้น มหาชนจึงเรียกท้าวกุเวรมหาราชว่า ‘ท้าวเวสวัณ’
ยักษ์ชื่อตโตลา ชื่อตัตตลา
ชื่อตโตตลา ชื่อโอชสี ชื่อเตชสี ชื่อตโตชสี
ชื่อสุระ ชื่อราชา ชื่อสูโรราชา
ชื่ออริฏฐะ ชื่อเนมิ ชื่ออริฏฐเนมิ
ต่างทำหน้าที่หาข่าวและประกาศให้ทราบ1
ในวิสาณาราชธานีนั้น มีห้วงน้ำชื่อธรณี
ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดเมฆ เกิดฝนตก
ในวิสาณาราชธานีนั้น มีสภาชื่อภคลวดี
เป็นที่ประชุมของพวกยักษ์
มีต้นไม้ทั้งหลาย ผลิผลเป็นนิจ
ดารดาษด้วยหมู่นกชนิดต่าง ๆ
มีเสียงร้องของนกยูง นกกะเรียน
และเสียงขับกล่อมจากนกดุเหว่า เป็นต้น

เชิงอรรถ :
1 ต่างทำหน้าที่หาข่าวและประกาศให้ทราบ หมายถึงยักษ์ผู้ครองเมืองแต่ละตน แยกกันทำหน้าที่ดูแล
รักษาผลประโยชน์ของเมืองนั้นและแจ้งข่าวแก่ยักษ์ผู้เฝ้าประตูในทิศต่าง ๆ 12 ทิศ ของวิสาณาราชธานี
เพื่อให้นำไปถวายแก่ท้าวเวสวัณ (ที.ปา.อ. 281/159, ที.ปา.ฏีกา 281/198)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :227 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [9. อาฎานาฎิยสูตร] ภาณวารที่ 1

ในวิสาณาราชธานีนั้น มีเสียงร้องของนกชีวัญชีวกะ
และนกโอฏฐวจิตตกะ มีไก่ป่า
ในสระบัวมีปูทอง และนกชื่อโปกขรสาตกะ
ในวิสาณาราชธานีนั้น มีเสียงนกแก้ว
นกสาลิกา และหมู่นกทัณฑมาณวะ1
สระบัวของท้าวกุเวรนั้น จึงงามตลอดกาลทุกเมื่อ
คนเรียกทิศนั้นว่า ทิศนั้นเป็นทิศเหนือจากภูเขาสิเนรุนี้ไป
ซึ่งเป็นทิศที่ท้าวมหาราชผู้ทรงยศองค์นั้นอภิบาลอยู่
ท้าวมหาราชนั้นมีพระนามว่าท้าวกุเวร
ทรงเป็นหัวหน้าของพวกยักษ์ มียักษ์แวดล้อม
ทรงโปรดปรานการร่ายรำและการขับร้อง
ข้าพระพุทธเจ้าได้สดับมาว่า
‘แม้โอรสของท้าวกุเวรจะมีมาก แต่มีพระนามเดียวกัน
คือ ทั้ง 91 องค์ มีพระนามว่าอินทะ ต่างมีพลังมาก’
ท้าวกุเวรและโอรสเหล่านั้น
ได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้ตื่นแล้ว
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์
พากันถวายอภิวาทพระพุทธเจ้า
ซึ่งเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ปราศจากความครั่นคร้าม แต่ที่ไกล
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นบุรุษอาชาไนย
ข้าพระพุทธเจ้าขอนอบน้อมพระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นบุรุษสูงสุด

เชิงอรรถ :
1 นกฑัณฑมาณวะ หมายถึงนกที่มีหน้าเหมือนคนซึ่งชอบนำท่อนไม้สีทองมาวางไว้บนใบบัว (ที.ปา.อ. 281/160)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :228 }